วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

ภูมิอากาศ
ลมฟ้าอากาศ (Weather) หมายถึง สภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา แต่ละสถานที่ ซึ่งแปรเปลี่ยนอยูjตลอดเวลา
ภูมิอากาศ (Climate) หมายถึง สรุปลักษณะสภาพลมฟ้าอากาศซึ่งหมุนเวียนไปตามฤดูกาลของแต่ละสถานที่
ภาพที่ 1 แกนของโลกเอียง 23.5° ทำให้เกิดเขตภูมิอากาศ



จากภาพที่ 1 แสดงถึง แกนของโลกเอียง 23.5° กับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ในวันที่ 21 มิ.ย. โลกหันขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ บริเวณเหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° เหนือ) ขึ้นไป จะได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา ส่วนบริเวณใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° ใต้) ลงมา จะเป็นกลางคืนตลอดเวลา ซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อน ขณะที่ซีกโลกใต้เป็นฤดูหนาว หกเดือนต่อมา ในวันที่ 21 ธ.ค. บริเวณใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° ใต้) ลงมา จะได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา ส่วนบริเวณเหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° เหนือ) ขึ้นไป จะกลายเป็นกลางคืนตลอดเวลา ซีกโลกใต้เป็นฤดูร้อน ขณะที่ซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว หากโลกเป็นทรงกลมที่สมบูรณ์และมีพื้นผิวราบเรียบ ไม่มีภูเขาหุบเขา ไม่มีทะเลมหาสมุทร และมีองค์ประกอบของพื้นผิวเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีแม้กระทั่งใบไม้ใบหญ้า เราสามารถแบ่งเขตภูมิอากาศในแต่ละซีกโลกออกเป็น 3 เขต ดังนี้ เขตร้อน อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ กับเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน (ละติจูด 23.5° ใต้) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมชัน และมีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะได้ พื้นที่เขตนี้จึงรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้มากกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก เขตอบอุ่น อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ (ละติจูด 23.5° เหนือ) กับเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° เหนือ) และพื้นที่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน (ละติจูด 23.5° ใต้) กับเส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° ใต้) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมเฉียง แม้ว่าไม่มีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะ แต่ก็ยังได้รับแสงอาทิตย์ตลอดปี เขตหนาว อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° เหนือ) ขึ้นไป และใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° ใต้) ลงมา แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมลาด มีโอกาสได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาวน้อยมาก แต่เนื่องจากโลกมิใช่ทรงกลมที่สมบูรณ์ และมีพื้นผิวไม่ราบเรียบ มีทั้งที่ราบ ภูเขา หุบเขา ทะเล มหาสมุทร และถูกปกคลุมด้วยสิ่งปกคลุมและพืชพรรณต่างๆ กัน เราจึงแบ่งเขตภูมิอากาศโลก โดยพิจารณาปัจจัยที่ควบคุมสภาพภูมิอากาศ ดังนี้ ความเข้มของแสงแดด ซึ่งแปรผันตามละติจูด แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นผิวบริเวณศูนย์สูตรเป็นมุมชันกว่าบริเวณขั้วโลก ความเข้มของแสงจึงมากกว่า ประกอบกับแสงอาทิตย์เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศบริเวณศูนย์สูตร เป็นระยะทางสั้นกว่าผ่านชั้นบรรยากาศบริเวณขั้วโลก เพราะฉะนั้นยิ่งละติจูดสูงขึ้นไป ความเข้มของแสงแดดยิ่งน้อย อุณหภูมิยิ่งต่ำ การกระจายตัวของแผ่นดิน และมหาสมุทร พื้นดินและพื้นน้ำมีความสามารถดูดกลืนและคายความร้อนไม่เท่ากัน จึงมีผลต่อความกดอากาศ ตลอดจนทิศทางและความเร็วลมท กระแสน้ำในมหาสมุทร กระแสน้ำมีความสัมพันธ์กับกระแสลมผิวพื้น อุณหภูมิของน้ำทะเลมีผลต่ออุณหภูมิและความชื้นของอากาศ กระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นจึงมิอิทธิพลต่ออุณหภูมิของอากาศผิวพื้นโดยตรง กระแสลมจากมหาสมุทร ลมเป็นตัวถ่ายเทความร้อนของบรรยากาศ กระแสลมในมหาสมุทรสามารถหอบเอาไอน้ำจากมหาสมุทร มาทำความชุ่มชื่นให้กับตอนในของทวีป ตำแหน่งของหย่อมความกดอากาศต่ำ และหย่อมความกดอากาศสูง เป็นตัวกำหนดการเคลื่อนที่ของอากาศทั้งแนวดิ่งและแนวตั้ง ความกดอากาศต่ำทำให้เกิดเมฆและหยาดน้ำฟ้า ความกดอากาศสูงทำให้ท้องฟ้าโปร่ง แรงเกรเดียนความกดอากาศซึ่งเกิดจากความแตกต่างของความกดอากาศ ทำให้เกิดกระแสลม เทือกเขา เป็นกำแพงขวางกั้นทิศทางลม เมื่อลมปะทะกับเทือกเขาจะเกิดการยกตัวของกลุ่มอากาศ และเกิดการควบแน่นเป็นเมฆและหยาดน้ำฟ้า ทำให้ด้านหน้าของเทือกเขามีความชุ่มชื้น อากาศแห้งจมลงด้านหลังเขา เกิดเป็นเขตเงาฝนที่แห้งแล้ง ระดับสูงของพื้นที่ ยิ่งสูงขึ้นอุณหภูมิยิ่งต่ำลง ณ ตำแหน่งละติจูดเดียวกัน พื้นที่สูงจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นที่ราบ
การจำแนกภูมิอากาศโลก ในปี ค.ศ.1918 วลาดิเมียร์ เคิปเปน (Vladimir Kóppen) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอร์มัน ได้จำแนกภูมิอากาศโลกโดยใช้เกณฑ์อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนและปริมาณหยาดน้ำฟ้า โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ดังนี้ A ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร ทุกเดือนมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 18°C ไม่มีฤดูหนาว B ภูมิอากาศแห้ง อัตราการระเหยของน้ำมากกว่าหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมา C ภูมิอากาศอบอุ่นชื้นแถบละติจูดกลาง ฤดูร้อนอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวไม่หนาวมาก อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 18°C และสูงกว่า -3°C D ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีป ฤดูร้อนอากาศเย็น ฤดูหนาวหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดไม่ต่ำกว่า 10°C อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า -3°C E ภูมิอากาศขั้วโลก อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดต่ำกว่า 10°C H ภูมิอากาศแถบภูเขาสูง เป็นลักษณะภูมิอากาศหลายแบบรวมกัน ตามระดับสูงของภูเขา (กำหนดโดยนักวิทยาศาสตร์ในสมัยต่อมา)
ภูมิอากาศแถบร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร (Tropical Moist Climates) : A เป็นบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น ทุกๆ เดือนมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18°C และมีฝนตกมากกว่า 150 เซนติเมตร กลางวันมีอุณหภูมิเฉลี่ย 32°C กลางคืนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 22°C กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก เนื่องจากอยู่ในแนวปะทะอากาศเขตร้อน (ITCZ) จึงมีการก่อตัวของเมฆคิวมูลัส และเมฆคิวมูโลนิมบัส ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในช่วงบ่ายและเย็น สภาพอากาศจะสงบท้องฟ้าใสหลังจากที่ฝนตกลงมา เนื่องจากความชื้นสูงมีไอน้ำในอากาศจำนวนมาก จึงมักมีการควบแน่นเกิดน้ำค้างและหมอกปกคลุมพื้นดินเวลากลางคืน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตรต่อปี



ภาพที่ 2 ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร

พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 25° เหนือ - 25° ใต้ ได้แก่ ลุ่มน้ำอเมซอนในประเทศบราซิล ลุ่มน้ำคองโกในตอนกลางของทวีปแอฟริกา หมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย พื้นที่บางส่วนปกคลุมด้วยป่าฝนเขตร้อน (Tropical rain forest) มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ป่าฝนเขตร้อนมีพื้นที่เพียง 7% ของโลก แต่มีสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
ภูมิอากาศแห้ง (Dry Climates) : B เป็นบริเวณที่อากาศแห้ง ปริมาณการระเหยของน้ำมากกว่าปริมาณหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมา ทำให้ท้องฟ้าโปร่ง แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นผิวมีความเข้มแสงมากกว่า 90% กลางวันมีอุณหภูมิสูงกว่า 38°C (50° ในช่วงฤดูร้อน) กลางคืนอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (-15°C ในช่วงฤดูหนาว) กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิต่างกันมาก ปริมาณน้ำฝนในรอบปีเพียงประมาณ 5 เซนติเมตร บางปีอาจไม่มีฝนตกเลย


ภาพที่ 3 ภูมิอากาศแห้ง

พื้นที่ในเขตนี้กินอาณาบริเวณถึง 30% ของพื้นทวีปทั้งหมดของโลก อยู่ระหว่างละติจูดที่ 20° - 30° เหนือและใต้ โดยมากจะเป็นทะเลทรายบนที่ราบซึ่งห้อมล้อมด้วยเทือกเขา ได้แก่ ทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ทะเลทรายโกบีในประเทศจีน มีความแห้งแล้งเนื่องจากอยู่ในบริเวณแถบความกดอากาศสูงกึ่งศูนย์สูตร ซึ่งเกิดจากมวลอากาศแห้งปะทะกันแล้วจมตัวลง ภูมิอากาศอบอุ่นชื้นแถบละติจูดกลาง (Moist subtropical mid-lattitude climate) : C เป็นบริเวณที่ฤดูร้อนและฤดูหนาวมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก เพราะว่ามีอากาศชื้นตลอดทั้งปีเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ทะเลและมหาสมุทร อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 18°C และสูงกว่า -3°C แบ่งย่อยออกเป็น


ภาพที่ 4 ภูมิอากาศแถบละติจูดกลาง

ภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean climates) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่รอบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป และตอนเหนือของทวีปยุโรป เป็นเขตที่มีฝนตกน้อย พืชพรรณเป็นพุ่มเตี้ย มักเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อน และมีฝนตกในช่วงฤดูหนาว ภูมิอากาศแถบอบอุ่น (Temperate climates) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 25° - 40° เหนือ ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนกลาง และซีกตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน เป็นบริเวณที่ฤดูกาลทั้งสี่มีความแตกต่างอย่างเด่นชัด ปริมาณน้ำฝนในรอบปีประมาณ 500 - 1,500 มิลลิเมตร
ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีป (Humid continental climates) : D ลมเวสเทอลีส์พัดมาจากมหาสมุทรทางด้านตะวันตก นำความชื้นเข้ามาสู่ภาคพื้นทวีปซึ่งอยู่ตอนใน เนื่องจากอยู่ในเขตละติจูดสูง อากาศจึงหนาวเย็นในช่วงฤดูร้อน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดไม่ต่ำกว่า 10°C) และมีสภาพอากาศรุนแรงในช่วงฤดูหนาว อากาศหยาวเย็นปกคลุมนานถึง 9 เดือน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า -3°C) ซึ่งทำให้น้ำแข็งจับตัวภายในดิน ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ช้า



ภาพที่ 5 ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีป

พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอยู่ระหว่างละติจูดที่ 40° - 60° เหนือ ของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ในแถบความกดอากาศต่ำกึ่งขั้วโลก แนวปะทะอากาศขั้วโลกทำให้เกิดการยกตัว ทำให้เกิดการควบแน่นของหยาดน้ำฟ้าช่วยให้พื้นดินมีความชื้น (หมายเหตุ: ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีปไม่มีในเขตซีกโลกใต้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของละติจูดนี้ในซีกโลกใต้ ส่วนใหญ่เป็นมหาสมุทร ไม่มีพื้นทวีปขนาดใหญ่)
ภูมิอากาศขั้วโลก (Polar Climates) : E มีอากาศแห้ง ลมแรง และหนาวเย็นตลอดทั้งปี ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดน้ำแข็งเพียงแค่ 2-4 เดือน (ต่ำกว่า 10°C) มีฤดูหนาวที่ยาวนาน และมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (66.5°เหนือ) ขึ้นไป และใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (66.5°ใต้) ลงมา บริเวณใกล้กับขั้วโลกเช่น เกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกมีแผ่นน้ำแข็งถาวรหนาหลายร้อยเมตรปกคลุม พื้นมหาสมุทรเต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง พื้นทวีปในส่วนที่ห่างไกลจากขั้วโลก น้ำในดินแข็งตัวอย่างถาวร พืชส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ มีแต่หญ้าและป่าสน



ภาพที่ 6 ภูมิอากาศขั้วโลก

ภูมิอากาศแถบภูเขาสูง (Highland Climates) : H เป็นลักษณะภูมิอากาศหลายแบบรวมกันขึ้นอยู่กับระดับสูงของพื้นที่ บนยอดเขาสูงมีความหนาวเย็นคล้ายคลึงกับภูมิอากาศขั้วโลก หากแต่มีความชื้นสูงซึ่งเกิดจากอากาศยกตัวและควบแน่น สภาพลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภูมิอากาศแบบนี้ปกคลุมพื้นที่เล็กๆ ตามเทือกเขาสูงของโลก เช่น เทือกเขาหิมาลัยในทวีปเอเชีย เทือกเขาเซียร์ราเนวาดา ในทวีปอเมริกาเหนือ และเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ ชนิดของพืชพรรณตามไหล่เขา เปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศซึ่งแตกต่างกันทุกๆ ระยะสูงที่เพิ่มขึ้น 300 เมตร เช่น บริเวณตีนเขาอาจเป็นไม้ผลัดใบ สูงขึ้นมาเป็นป่าสน และไม้แคระ ยอดเขาปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง


ภาพที่ 7 ภูมิอากาศแถบภูเขาสูง

ที่มา http://www.lesa.in.th/index4.html

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

อภิสิทธิ์"เปิดใจภารกิจแรก"ยุติแบ่งสี" ประกาศปราบศัตรูงาน ยืนยันจะฟังเสียงปชช.

วันที่ 17 ธันวาคม ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำพิธี รับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 27

"อภิสิทธิ์"เปิดใจภารกิจแรก"ยุติแบ่งสี" ประกาศปราบศัตรูงาน ยืนยันจะฟังเสียงปชช.


"อภิสิทธิ์" เปิดใจหน้าที่เบื้องต้นคือการยุติการเมืองที่ล้มเหลว การเมืองที่ล้มเหลวคือต้นเหตุความชัดแย้ง ส่งผลให้การแบ่งฝ่าย แบ่งภาค แบ่งสี ลั่นใครที่คิดร้ายต่อบ้านเมืองถือเป็นศัตรูงาน สานต่อโครงการรักษาฟรี กองทุนชุมชน ยันฟังทุกเสียงของประชาชนแม้จะทำให้ทุกคนรักไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า

"ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ผมสำนึกเสมอว่า ผมเกิดมาเป็นข้าแผ่นดินต้องสนองคุณแผ่นดิน สำนึกตลอดว่า แผ่นดินร่วมเย็นตลอดมาเพราะพระบารมี ขอยืนยันตรงนี้ในฐานะนายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลที่ผมเป็นผู้นำจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง"


นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณเพื่อนสมาชิกในสภาฯ พี่น้องประชาชนที่ให้กำลังใจทำให้ตนมายืนตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ทราบดีถึงสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติ หรือเรียกว่าเป็นสถานการณ์วิกฤต แต่เมื่อเป็นนักการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตย เมื่ออาสาสมัครมาทำงานแล้วจะไม่หนีปัญหา หรือปฏิเสธความรับผิดชอบ เมื่อเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนตนมาตามวิถีทางประชาธิปไตยและตามกระบวนการรัฐสภา


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หน้าที่เบื้องต้นคือการยุติการเมืองที่ล้มเหลวการเมืองที่ล้มเหลวคือต้นเหตุความชัดแย้ง ส่งผลให้การแบ่งฝ่าย แบ่งภาค แบ่งสีเกิดขึ้น การขจัดการเมืองที่ล้มเหลวคือการนำความสมัครสมานสามัคคีคืนมา อาศัยความยุติธรรม เป็นรัฐบาลภายใต้การนำนิติธรรม นิติรัฐ บังคับใช้กฎหมายเสมอภาพ อย่างไรก็ตาม ยืนยันทำงานให้คนไทยทุกคน ไม่ว่าเลือกหรือไม่เลือกตน ไม่ว่าสนับสนุนหรือไม่ หากท่านไม่คิดร้ายต่อบ้านเมือง ก็ไม่ถือเป็นศัตรู งานใดเป็นประโยชน์แม้เป็นของรัฐบาลก่อน ก็จะไม่ทิ้ง สานต่อ ไม่ว่าโครงการรักษาฟรี กองทุนในชุมชนต่างๆ


ทราบดีว่า ปัญหาเร่งด่วนในใจประชาชนคือปัญหาเศรษฐกิจ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงเป็นงานสำคัญ ตั้งใจดูแลเกษตรกรเต็มที่ ไม่ให้รับผลกระทบจากราคาพืชผลตกต่ำ ส่วนประชาชนนอกภาคเกษตรจะมีงานทำรายได้และโอกาส จะทำทุกวิถีทางเพื่อลดภาระค่าครองชีพ ตามแนวทางวาระประชาชน ทันทีที่แถลงนโยบายต่อสภา จะนำเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกสาขา


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะเดียวกันแม้ว่าบ้านเมืองจะมีวิกฤตอย่างไร เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาระยะยาวด้วย ไม่ปล่อยให้ปัญหาหมักหมมหรือตกค้าง โดยเฉพาะงานศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนค้มค่าสุดของประเทศ รวมถึงโครงการพื้นฐานต่างๆ เช่น พัฒนาแหล่งน้ำ ถนน การคมนาคม การสื่อสาร อินเตอร์เน็ต พลังงานทดแทน ไม่เพียงแต่อยากให้เราฝ่าวิกฤตหรือแข่งขันประเทศอื่น แต่อยากเห็นประเทศไทยเป็นต้นแบบพัฒนาตามประชาธิปไตยที่มีคุณภาพยั่งยืน นอกจากนี้ ตนกำลังจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน อยากให้เพื่อนอาเซียนมั่นใจการนำของเรา ในฐานะประธานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะมีเร็วที่สุด


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในฐานะนักการเมืองอาชีพ ผมได้รับโอกาสสูงสุด จากประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตยอยู่ในการเมืองมา 16 ปี เป็นผู้แทน 7 สมัย เคยเป็นรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ปัจจุบันตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง ความรู้ประสบการณ์ทั้งหมดจะนำมาใช้บนพื้นฐานความซื่อสัตย์เพื่อส่วนร่วม ยืนยันจะไม่ละทิ้งอุดมกรณ์การทำงาน และปล่อยสิ่งเหล่านั้นให้สูญหายกับการใช้อำนาจ หลือปล่อยสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในบ้านเมือง

"ผมไม่ลืมพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ลืมว่าความใฝ่ฝันของพี่น้อง คือความสันติสุข ความสงบสุขที่รอคอยคือความสุขของท่าน ผมไม่ลืมพี่น้องชาวเหนือเมื่อครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหลายคครั้งในยามทุกข์ ยามสุข ที่ประสบภัยพิบัติหลายครั้ง และยังจำได้ว่ามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งวิ่งตามรถแห่หาเสียงตะโกนบอกว่าอยากฝากบ้านเมืองให้ผมดูแล"

พี่น้องชาวอีสาน ผมได้ทราบทุกข์สุขของท่าน ไม่ลืมวันที่ปั้นข้าวเหนียวที่ไร่มันสัมปะหลังและอดที่จะเอ่ยถึงไม่ได้ คือคุณนายเนียน ที่ อ.ม่วง จ.อุบลราชธานี ที่ได้มอบแหวนวงนี้(ชูแหวน)ให้ผม และได้หมั้นผมกับคนอีสานไว้แล้ว วันนี้ผมได้ทำงานให้คนอีสานของท่านและจะทำงานร่วมกับท่านด้วยความซื่อสัตย์

"ผมว่าคนหนึ่งคนไม่สามารถแก้ไขทำให้คนรักผม เห็นด้วยหรือสนับสนุนผมได้ทุกคน แต่ยืนยันว่าผมจะฟังเสียงทุกคน ทำงานให้ทุกคน ทำงานของผมพิสูจน์ความตั้งใจทำงานให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนนและพิสูจน์ทุกอย่าง"

แม้ว่าผมจะใช้ชีวิตในต่างแดนแต่ไม่เคยรู้สึกว่าจะมีที่ไหนน่าอยู่เท่ากับประเทศไทยผมเชื่อมั่นในประเทศไทย เชื่อว่าไม่ว่าเจออุปสรรคปัญหา เชื่อว่าคนไทย พลังของพวกเราจะทำให้ประเทศเราผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้และฝ่าวิกฤตเพื่ออนาคตของลูกหลานคนไทยทุกคนเราทำได้